มาเรียนรู้ทักษะ การขับรถออฟโรดขั้นพื้นฐานอย่างถูกวิธีกับ Grand Prix Motor Park กันเถอะ…(Part 10 ตอนจบ)

Station ที่ 10.สถานีบ่อทรายและการขับในอุปสรรคที่เป็น “ทราย”

 “ทราย” ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่ง และเป็นอุปสรรคชนิดเดียวที่เหมาะสมกับการใช้ดอกยางละเอียด (Desert Duller) เนื่องจากพื้นผิวสัมผัสจะช่วยกระจายน้ำหนักเต็มหน้ายาง ในขณะเกิดการหมุนของล้อ ดอกยางจะไม่ขุดเหมือนยาง Mud Terrian ทำให้รถไม่จมเมื่อแล่นผ่านไป

พื้นผิวทรายมีความร่วนซุย ไม่เกาะกับดอกยาง จึงไม่ต้องการการหมุนปั่นของล้อ เพื่อสลัดทรายออกจากดอกยาง ตรงกันข้ามหากเกิดการหมุนปั่นล้อมากเกินค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่พอดี ก็จะเกิดการขุดฝังตัวเองให้จมได้ง่าย ดังนั้นพื้นฐานการขับรถข้ามอุปสรรคชนิดนี้ไม่มีอะไรยุ่งยากมากมายนัก จุดหลักๆ ก็ต้องอาศัย Walking Speed และการเดินรอบของเครื่องยนต์ที่สม่ำเสมอ ในส่วนของทรายที่แน่นจะไม่เป็นอุปสรรคมากนักต่อการขับ


ดอกยางละเอียด (Desert Duller) หรือยาง A/T จะได้เปลี่ยนยางประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะยางบั้ง ดอกยางจะไม่ขุดเหมือนยาง Mud Terrian ทำให้รถไม่จมเมื่อแล่นผ่านไป

เมื่อเราพิจารณาถึงลักษณะพื้นผิวของทรายที่ร่วนซุย จะเห็นได้ง่ายว่าทรายนั้นจะไม่เกาะติดกัน หากเราทดลองโดยการแบมือแล้วกดลงบนพื้นทราย เปรียบเทียบกับการใช้สันมือกดลงด้วยแรงที่เท่ากัน จะเห็นว่าการแบฝ่ามือจะช่วยไม่ให้มือจมลงไปมากนัก เนื่องจากมีพื้นผิวสัมผัสมากกว่าด้านที่ใช้สันมือกด ซึ่งจะจมลึกกว่า ขณะเดียวกันถ้าขยับมือและขยี้ไปมาก็จะขุดทรายได้ง่าย ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า การขับรถบนพื้นทรายที่ร่วนซุย ต้องการยางที่มีหน้าสัมผัสกว้างและที่สำคัญห้ามโยกหรือส่ายพวงมาลัยไป-มา เพื่อให้หน้ายางเกาะพื้นผิวเหมือนการขับข้ามบ่อโคลนหรือทางที่เป็นเลน เพราะถ้าเราทำอย่างนั้นเท่ากับว่าเราเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง ยิ่งถ้ากดคันเร่งเข้าไปอีก รถก็จะจมจนแขวนท้องติดทรายอยู่อย่างนั้น

ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะพกยางอีกชุดหนึ่งติดรถไปด้วย ถ้าไม่ใช่การแข่งขัน และส่วนใหญ่พวกออฟโรดเราจะนิยมใส่ยางดอกหยาบหรือ ดอก Mud Terrian ซึ่งมีหน้ายางกว้างปานกลางจนถึงแคบไม่เหมาะกับการขับบนพื้นทราย แต่ก็มีวิธีแก้ครับ…ด้วยการปล่อยลมยางเพิ่มผิวสัมผัสให้มากขึ้น บางครั้งถ้าเป็นทรายละเอียดมากๆ ก็จะปล่อยกันจนเกือบแบน (วิธีนี้เอาไว้ใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ ) และเคลื่อนที่โดยการใช้ Walking Speed เท่านั้น หากว่ากดคันเร่งมากเกินไปอาจจะทำให้ยางหลุดขอบได้ง่ายจากแรงดันลมยางต่ำและที่สำคัญเป็นการขับขี่ที่ถูกวิธี

หลีกเลี่ยงการเลี้ยวในมุมแคบๆ และห้ามเหยียบเบรกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำหนักรถกดลงบนพื้นทรายอย่างแรงจนทำให้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำได้

เมื่อรถเคลื่อนตัวไปได้จนสามารถทำความเร็วได้พอเพียง ก็สามารถเปลี่ยนเกียร์ 2-3 ได้ตามรอบเครื่องยนต์ (ยกเว้นในน้ำ) หากสัมผัสได้ถึงความหนืดของรถให้รีบลดเกียร์ลงพร้อมกับถอนคันเร่ง แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ใช้เกียร์เดียวไปเลย โดยการรักษารอบเครื่องให้คงที่ หลีกเลี่ยงการเลี้ยวในมุมแคบๆ เพราะด้านข้างของแก้มยางจะต้านกับทราย ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ ในขณะที่ล้อหลังกำลังหมุนอยู่ ทำให้รถจมทรายได้ง่ายและห้ามเหยียบเบรกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำหนักรถกดลงบนพื้นทรายอย่างแรงจนทำให้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำได้ เนื่องจากทรายจะจับล้อหน้าไว้ให้หยุดอย่างกะทันหัน พร้อมกับน้ำหนักรถทั้งคันยังดันรถอยู่ (Momentum) จึงทำเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว


ในเส้นทางที่เป็นทรายเราสามารถทำความเร็วได้พอเพียง สามารถเปลี่ยนเกียร์ 2-3 ได้ตามรอบเครื่องยนต์ (ยกเว้นในน้ำ) หากสัมผัสได้ถึงความหนืดของรถให้รีบลดเกียร์ลงพร้อมกับถอนคันเร่ง

ในกรณีที่ต้องถอยรถเราต้องแน่ใจว่า ปรับพวงมาลัยให้อยู่ในทิศทางตรงเท่านั้น เพราะการหักเลี้ยวพร้อมกับขับถอยหลัง จะทำให้ด้านข้างของยางเกิดแรงด้าน รถจะเกิดอาการเต้นเป็นจังหวะ เป็นเพราะน้ำหนักกดของด้านท้ายจะเบากว่าด้านหน้ารถ ซึ่งมีน้ำหนักของเครื่องยนต์รวมอยู่ด้วย (ยกเว้นในรถที่มีการบรรทุกสัมภาระ) เมื่อรถเกิดการเต้นแสดงว่าท่านกดคันเร่งมากเกินไปให้ถอนเท้าทันที และปล่อยให้เกียร์ถอยหลังดึงรถ คอยประคองไม่ให้รถดับเพื่อไม่ให้เป็นการเสี่ยงต่อการตัวใหม่

การขับรถในพื้นทรายที่ร่วนซุยมากๆ นั้น ต้องขับด้วยความนุ่มนวลและรักษารอบเครื่องให้คงที่มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ การออกรถไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง ต้องทำด้วยความนุ่มนวล ผู้ที่ขาดประสบการณ์มักจะกลัวรถติดหล่มจึงออกตัวอย่างแรง ยิ่งรู้สึกว่าจะจมก็จะยิ่งกดคันเร่งมากขึ้น ซึ่งเป็นการขับที่ผิดวิธี และเมื่อรถจมใต้ท้องติดพื้นทรายแล้ว ห้ามพยายามเร่งต่อควรแก้ไขด้วยวิธีอื่น เพราะเพลากลางซึ่งถูกน้ำหนักรถกดอัดแน่นกับพื้นทรายอาจจะขาดได้

เส้นทางทรายถือว่ายากอยู่แล้ว แต่จะถูกเพิ่มความยากเข้าไปอีก หากเส้นทางนั้นต้องข้ามตามลำห้วยและลำธารต่างๆ ขับผิดจังหวะและวิธี มีโอกาสติดหล่มกลางน้ำได้ง่าย

ถ้าเดินทางเป็นขบวนหรือคาราวานควรหลีกเลี่ยงการขับลงไปในร่องล้อเดิม ซึ่งคันหน้าขับผ่านไปแล้ว สาเหตุเพราะรถอาจจะเกิดแขวนใต้ท้องได้ง่าย เพราะการขับซ้ำร่องเดิมจะมีช่องว่างระหว่างพื้นทรายกับใต้ท้องรถน้อยลง ยกเว้นการขับข้ามน้ำที่มีกระแส น้ำจะพัดเอาทรายมากลบรอยเดิม จึงไม่ต้องเปลี่ยนร่องใหม่หรือไลน์ใหม่ เพราะอาจเจอกับปัญหาอื่นๆ ได้ เช่น ก้อนหินกระแทกช่วงล่าง ตกหลุมขนาดใหญ่ใต้น้ำที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ ฯลฯ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่ว่าจะขับผ่านอุปสรรคทรายทั้งในน้ำและบนบก รถคันที่ตามมาด้านหลังต้องหยุดรอให้คันหน้าเคลื่อนตัวผ่านไปก่อนแล้วจึงขับมาไป เผื่อกรณีติดขัดจะแก้ปัญหาเพียงคันเดียว ไม่เป็นการเพิ่มความยุ่งยากในการกู้รถทำให้ขบวนล่าช้าขึ้นไปอีก

สภาพเส้นทางอุปสรรคทรายนั้น ยากที่จะดาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในขณะที่ขับอยู่ดีๆ ก็อาจจะติดหล่มได้โดยไม่ทันระวัง และหากเกิดจมทรายแล้ว วิธีปฏิบัติในการแก้ไขจึงควรเป็นไปด้วยความรอบคอบ

ธรรมชาติของทรายจะมีความแน่นเพิ่มขึ้น เมื่อมีน้ำเข้ามาเป็นตัวประสาน ตรงกันข้ามกับดินที่จะนิ่มลงเนื่องจากน้ำจะซึมและละลายดินให้เหลว ดังนั้นการแก้ปัญหาบนพื้นทราย คือต้องนำน้ำมาราดเพื่อให้เม็ดทรายจับตัวกัน แต่ข้อแม้อยู่ที่ว่ารถของท่านยังไม่ทันติดหล่มทราย แต่ถ้าติดหล่มทรายจนจม การราดน้ำก็ไม่ช่วยอะไรมากนัก เพราะน้ำไม่สามารถทำให้ทรายเกาะตัวได้แน่นพอที่รถจะไต่ขึ้นมาได้ จึงควรขุดเอาทรายออกให้มากที่สุดเสียก่อน

เมื่อรถจมทรายแล้วหากยังสามารถลดลมยางได้อีก ให้ลดลมเพื่อเพิ่มหน้าสัมผัสและแรงเสียดทานให้มากขึ้น แล้วจึงขุดทรายออกให้ล้อทั้ง 4 กลับมาตั้งอยู่บนพื้นทรายใหม่โดยเฉพาะบริเวณใต้ท้องรถ หากช่วงล่างหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของของท้องรถมีการแปะหรือจมอยู่ในทรายให้ขุดออกเพื่อไม่ให้เกิดแรงด้าน ถึงตอนนี้เราต้องยอมเสียเวลาสักหน่อยเพื่อให้สามารถนำรถออกมาได้ภายในครั้งเดียว หลังจากนั้นจึงนำน้ำมาราดบนทรายบริเวณล้อรถ ถ้ามีไม้กระดานหรือแผ่นไม้อัดให้นำมาปูเพื่อให้ล้อเหยียบก็จะช่วยได้เยอะ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เคลื่อนรถออกไปด้วยการใช้ Walking Speed

หากว่ารถติดหล่มทรายจนถึงขั้นจมทั้ง 4 ล้อ ไม่ควรดิ้น พยายามอย่าเร่งต่อควรแก้ไขด้วยวิธีอื่น โดยเฉพาะการใช้วินช์ช่วยจะดีที่สุด

การใช้วินช์ (Winch) ดึงรถขึ้นมาจากหล่มทรายนั้น รถที่ทำการดึงหรือให้การช่วยเหลือจะต้องมีหลักยึดที่มั่นคง โดยการตรึงรถไว้กับต้นไม้หรือก้อนหินขนาดใหญ่บริเวณนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้รถเคลื่อนที่เข้าหาคันที่จมอยู่ เพราะเมื่อใดที่รถเคลื่อนตัวเข้าหากันอาจจะติดหล่มทรายตายคู่ก็ได้ ทั้งนี้เพราะรถที่จมอยู่จะถูกทรายต้านเอาไว้ทำให้น้ำหนักที่วินช์จะต้องดึงรถมีมากกว่าปกติ จึงควรใช้รอกทดเพื่อเพิ่มกำลังของวินช์ โดยที่รถทั้ง 2 คันไม่ควรเร่งช่วยเพราะจะทำให้รถจมมากยิ่งขึ้น (รถคันที่ติดอาจจะใช้ Walking Speed ช่วยก็ได้)

ปัจจุบันมีอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับรถติดหล่มอยู่มากมาย โดยเฉพาะสายรัดล้อ มีติดรถเอาไว้บ้างจะช่วยได้เยอะ

หากใช้การกระตุกด้วย “เชือกกระตุก” ให้ช่วยได้ 2-3 ครั้ง โดยรถคันที่จมเร่งช่วยด้วย ถ้าไม่สามารถกระตุกขึ้นมาได้ให้ใช้วิธีอื่นแทน ห้ามใช้เชือกธรรมดาลาก เพราะจะทำให้รถคันที่ให้ความช่วยเหลือเกิดเสียหายและติดหล่มทรายได้

อย่างไรก็ตามเมื่อขับลุยผ่านหล่มทรายไปแล้ว ควรตรวจเช็คซีลต่างๆ ให้ทั่วคัน เพราะบรรดาฝุ่นละเอียดต่างๆ จะเข้าไปกัดลูกปืนสายพาน และอาจเกิดการอุดตันของไส้กรองอากาศได้ ถ้าลุยหนักๆ มาจริงๆ อาจจะต้องถอดเช็คระบบต่างๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะเบรก ควรถอดออกมาทำความสะอาดด้วย

ทราย นับเป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่เราจะต้องเจอและขับผ่านอยู่ประจำ ไม่ว่าในชีวิตประจำวันหรือท่องเที่ยวป่า เป็นอุปสรรคหนึ่งที่คาดเดาได้ยาก บางครั้งดูเหมือนไม่มีอะไร ขับผ่านแบบง่ายๆ กลับกลายเป็นว่าสร้างความยุ่งยากให้กับเรา แต่บางทีก็ง่ายกว่าที่คิด ทางที่ดีก่อนจะขับผ่านและไม่มั่นใจ ควรลงไปตรวจเช็คเส้นทางเสียก่อน ด้วยการเดินย่ำหรืออะไรก็ตาม

รถขับเคลื่อน 2 ล้อ วิ่งในพื้นผิวที่เป็นทราย มีโอกาสติดหล่มทรายค่อนข้างสูงมาก (ภาพจาก www.)

ทราย จึงนับเป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง ที่ท้าทายความสามารถของผู้ขับขี่ ดังนั้นการฝึกหัดขับถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์ เพิ่มทักษะและความชำนาญให้กับผู้ขับขี่ จะช่วยให้เราสามารถผ่านอุปสรรคไปได้อย่างไม่ยุ่งยากนัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *