มาเรียนรู้ทักษะ การขับรถออฟโรดขั้นพื้นฐานอย่างถูกวิธีกับ Grand Prix Motor Park กันเถอะ…(Part 7)

Station ที่ 5 การขับขึ้น – ลง เนินที่มีความลาดชัน

มาถึงเทคนิคการขับในอุปสรรคต่อไป นั่นก็คือ การขับขึ้น-ลง เนินชัน เปรียบเสมือนสถานีนี้ทดสอบแรงบิดของเครื่องยนต์ ในรอบต่ำ (Walking Speed) ช่วงขาขึ้น และทดสอบระบบช่วยเบรคที่มาจากเครื่องยนต์และรอบเกียร์ หรือ Engine Brake รวมถึงระบบลงทางลาดชันในรถรุ่นต่างๆ ซึ่งเรามักจะพบอยู่เสมอ โดยเฉพาะภูมิประเทศแบบภูเขา ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองศาของเนิน  ลักษณะของพื้นผิว เป็นต้น

การฝึกขับในสนามทดสอบหรือสนามเทรนนิ่ง จะช่วยเพิ่มทักษะให้กับผู้ขับขี่มากยิ่งขึ้น

ในการขับบนเส้นทางออฟโรด ควรระมัดระวังในการขับ ขึ้น-ลง เนินเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเนินที่มีอันตราย เช่น มีเหวอยู่ข้างๆ หรือฝนตก พื้นผิวทางลื่น หรือเป็นเนินที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงมาก การควบคุมรถจะเป็นปัญหาและอันตรายมากขึ้นถ้าเป็นช่วงของการขับลงเนิน โดยเฉพาะพื้นผิวเปียกลื่นนั้น การใช้เบรกนอกจากไม่สามารถหยุดรถได้แล้ว ยังทำให้เสียการควบคุมรถอีกด้วย เพราะรถจะถูกแรงดึงดูดโลก ฉุดลงเนิน ล้อรถอาจจะหยุดหมุน แต่ตัวรถจะมีการเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายที่จะตามมา

เราจึงไม่ควรมองข้ามวิธีการขับขึ้น-ลงเนินอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพทางเปียกลื่น จนถึงเละเป็นทะเลโคลน ก็ยิ่งทำให้มีอันตรายมากขึ้น การควรคุมรถก็จะยาก เพราะรถจะไม่ไปตามทิศทางของพวงมาลัย ยิ่งถ้าตกใจเหยียบเบรก รถจะเกิดการขวางลำและเกิดการพลิกคว่ำได้


วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องในการขับขึ้นเนิน ควรมีการปรับเบาะให้ตั้งตรงกว่าปกติ เพื่อทัศนะวิสัยที่ดีกว่า

ข้อปฏิบัติที่สำคัญประการหนึ่งในการขับรถขึ้น-ลงเนินชัน ก็คือ  การปรับเบาะให้ตั้งตรงกว่าปกติ เพื่อทัศนะวิสัยที่ดีกว่า เพราะขณะขับขึ้นเนินนั้น  เราจะไม่สามารถเห็นเส้นทางในมุมเงยได้มากนัก ยิ่งเนินชันมากเท่าใดผู้ขับจะเห็นแต่ท้องฟ้า สาเหตุเพราะน้ำหนักตัวของเราจะกดให้หลังติดเบาะ เราไม่สามารถเห็นว่า เส้นทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จนกว่าหน้ารถจะปรับเข้าสู่ระนาบปกติของเส้นทาง ถ้าบังเอิญไม่ใช่เส้นทางตรงๆ กว่าจะเห็นว่าทางข้างหน้า เป็นโค้งซ้ายหรือโค้งขวาถือว่าอันตรายมาก การปรับเบาะให้ตั้งขึ้นเล็กน้อย จะช่วยให้ผู้ขับไม่ต้องโหนพวงมาลัย  เพื่อดึงตัวเองในการมองเส้นทางข้างหน้า เนื่องจากระยะของผู้ขับกับหน้ารถไม่ห่างกันมากนัก เพียงชะเง้อเล็กน้อยก็สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้สะดวก 

การขับขึ้นเนินชัน ควรอาศัยแรงบิดของเครื่องยนต์เป็นหลัก ถ้าชันมากค่อยๆ เหยียบคันเร่งช่วยเมื่อรถเริ่มหนืด

โดยพื้นฐานการขับขึ้นเนินชัน ก็คงต้องพูดถึงการใช้  Walking Speed  เกียร์ 4L อาศัยแรงบิดในการไต่ขึ้น และจะกลายเป็นแรงฉุด (Engine Brake) ในทางขาลง ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับพื้นผิว (เปียก–แห้ง ) องศา (ชันมากน้อย) และระยะทาง (ยาว- สั้น)ของเนิน ผู้ขับขี่จะต้องรู้สึกถึงกำลังเครื่องของรถว่าพอหรือไม่ ควบคุมคันเร่งให้พอที่จะไต่ขึ้นถึงยอดเนิน ก็เป็นอันใช้ได้ (ในขณะที่กำลังไต่ขึ้นเนินอยู่นั้น ไม่ควรขับกระโจนขึ้นไปด้วยความรุนแรง เพราะถ้ารถขึ้นถึงจุดสูงสุด  ก็อาจพุ่งลอยทั้งคัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้) และทันทีที่ถอนเท้า Engine Brake ก็จะทำหน้าที่ดึงรถโดยอัตโนมัติ


เนินชันยาวและมีความลื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรเปลี่ยนเกียร์มาใช้เป็นเกียร์ 2 ที่ 4L เพื่อเพิ่มความเร็วของรอบล้อ ในรอบเครื่องที่เท่าๆ กัน

หากเป็นเนินชันยาว การใช้ Engine Brake อาจไม่พอที่จะทำให้รถขึ้นได้ ควรเปลี่ยนเกียร์มาใช้เป็นเกียร์ 2 ที่ 4L และเร่งส่งตั้งแต่ตีนเนินแบบม้วนเดียวจบ ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์กลางเนิน  เพราะถ้ารอบเครื่องตกก็จะไม่สามารถขับขึ้นต่อไปได้  และอาจเกิดอันตรายหากรถไหลกลับหลัง  เพราะจะไม่สามารถเบรกให้หยุดได้  หากรอบเครื่องยนต์ไม่พอ อาจจะดับกลางเนิน  ปล่อยให้คาเกียร์ไว้  พร้อมกับเหยียบเบรกก่อนที่รถจะไหลกลับ และดึงเบรกมือ ควรทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า รถจะหยุดอยู่ที่เดิม  แล้วค่อยทำตามขั้นตอนที่จะแนะนำต่อไปนี้  เป็นที่น่าสังเกตว่า หากรถยังไม่ทันขยับไหลลงเนิน  เราสามารถใช้เบรกหยุดรถได้  แต่ถ้าขยับลงแล้ว  ไม่สามารถที่จะหยุดรถได้เลย  โดยเฉพาะหากเป็นเนินที่มีพื้นผิวเปียกลื่น

สาเหตุที่เลือกใช้เกียร์ 2-4 L ก็เพราะเป็นเกียร์ที่ยังมีแรงบิด (Torque ) ที่สูงพอเพียง และความเร็ว (Speed) ที่จัดกว่าเกียร์ 1-4L ทำให้ล้อสามารถหมุนได้จัดกว่า ในรอบเครื่องที่เท่ากัน (โดยประมาณ) ในขณะที่เกียร์ 1-4L  มีแรงบิดสูงกว่ามาก แต่ความเร็วเป็นรอง ไม่ว่าจะแช่รอบเครื่องยนต์สูงขนาดไหน การหมุนของล้อก็จะไม่จัดขึ้น พอที่จะดึงรถขึ้นเนินชันยาวไปได้ แถมยังเป็นข้อเสียอีก หากผู้ขับยังกดคันเร่ง แบบไม่มีถอนทั้งที่รถหยุดนิ่งแล้ว ถ้าเป็นพื้นเปียกหรือทราย  เหมือนการขุดหลุมฝังตัวเองหรือจะทำให้คลัตช์ไหม้ได้ จากกรณีของการใช้รอบเครื่องสูงเกินรอบเกียร์นั่นเอง 

สิ่งที่พึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในขณะขึ้นเนินชัน ก็คือการมองเห็นเส้นทางด้านหน้าไม่ชัด และเป็นสาเหตุให้เกิดการหลงพวงมาลัย จนรถเกิดอุบัติเหตุได้

หากเกิดสถานการณ์รถไม่สามารถขึ้นเนินหรือดับคาเนิน  ผู้ขับจะต้องแน่ใจว่า รถต้องหยุดอยู่กับที่ ไม่ปล่อยให้ไหลกลับหลังแม้แต่เมตรเดียว เพราะอาจเกิดอันตรายได้  ควรตั้งสติให้ดี  ก่อนจะค่อยๆ ถอยรถลงมาตีนเนิน พร้อมกับทำการเร่งส่งใหม่ วิธีการนี้จะอันตรายในช่วงการถอย แถมคนทั่วๆ ไปมักจะปฏิบัติกันผิดๆ สิ่งที่ห้ามปฏิบัติโดยเด็ดขาด คือ ปล่อยรถให้ไหลกลับหลังด้วยเกียร์ว่าง หรือเหยียบคลัตช์ แล้วหวังพึ่งเบรก บางคนปฏิบัติผิดหนักเข้าไปอีก  คือ ปล่อยให้รถไหลลงมาทั้งๆ ที่เครื่องยนต์ยังดับอยู่เบรกก็ไม่ทำงาน พวงมาลัยก็ล็อก ถึงแม้จะเป็นเนินเตี้ยๆ ถือว่าอันตรายมากหากว่าสองข้างทางนั้นเป็นหุบเหว

และอีกวิธีหนึ่ง คือ เร่งส่งขึ้นไปแล้วค้างอยู่กลางเนิน เจ้าของรถค่อยๆ ปล่อยรถลงมาด้วยวิธีการเหยียบคลัตช์ โดยยังคาอยู่ที่เกียร์ 1 ในตำแหน่ง 4L  พร้อมกับเร่งส่งสวนทางเพื่อชะลอความเร็วหรือช่วยเบรกไปในตัว นั่นเป็นวิธีการที่ผิดอย่างมาก เพราะปัญหาของวิธีการนี้ก็คือ เครื่องยนต์อาจจะตีกลับได้ กลายเป็นเรื่องใหญ่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เนินชันๆ จะถูกเพิ่มความยากมากขึ้น เมื่อมีความลื่นหรือเปียกชื้น เนื่องจากล้อจะเกิดอาการหมุนฟรีอยู่กับที่

เมื่อรถหยุดกลางเนินนิ่งสนิทดีแล้ว ให้ปลดเกียร์ว่าง พร้อมกับสตาร์ทเครื่องยนต์ แล้วเข้าเกียร์ถอยหลังทันที (ต้องไม่ลืมว่า ทั้งเบรกมือและเบรกเท้ายังคาอยู่)  หลังจากนั้นปลดเบรกมือ เหลือแต่การเหยียบคลัตช์และเบรก ค่อยๆ ถอนเท้าทั้งสองข้าง จนรถเริ่มขยับถอยหลัง ให้ถอนเท้าออกทันทีเกียร์ถอยหลังจะทำหน้าที่ดึงไม่ให้รถไหล โดยไม่ต้องเหยียบเบรก ถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัย ก็สามารถเหยียบเบรกประคองได้ แต่ห้ามกดจนล้อล็อก และห้ามเหยียบคลัตช์อีกในทุกกรณี จนกว่าจะลงถึงตีนเนิน

ในการขับขึ้นเนิน ควรเร่งส่งตั้งแต่ตีนเนิน ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์กลางเนิน เมื่อถึงจุดสูงสุดบนยอดเนิน  ให้ถอนคันเร่งทันที อย่าให้เกิดการกระโจนลอยในอากาศ เพราะอาจจะเสียการควบคุมได้

อีกวิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหารถดับคาเนิน ก็คือ การบิดกุญแจสตาร์ททั้งที่เกียร์ยังคาอยู่ ( Start In Gear) แต่ควรเป็นเกียร์ 1-4L และตำแหน่งตัวรถต้องไม่ดับห่างจากยอดเนินมากนัก วิธีนี้จะช่วยดึงรถให้ขยับทีละน้อย ถ้าเครื่องยนต์ติดให้เร่งเครื่องต่อไปเลย แต่ถ้าเครื่องยนต์สตาร์ทไม่ติด ก็ไม่เป็นไรใช้วิธีสตาร์ทซ้ำไปเรื่อยๆ

เส้นทางในธรรมชาติจริงๆ แตกต่างจากสนามที่ออกแบบสำหรับฝึกหัดขับไม่ว่าจะเป็นองศาที่ทั้งชัน และระยะทางที่ยาวกว่า ตลอดจนพื้นผิวที่ขรุขระอาจมีร่องลึกปรากฏให้เห็น และจะมีอัตราเพิ่มมากขึ้นหากภูมิประเทศรอบๆ เป็นเหว จึงทำให้โอกาสผิดพลาดในการขึ้นเนินของท่านเป็นศูนย์ จึงต้องใช้วิจารณญาณ ประกอบกับการตัดสินใจที่ถูกต้อง

บางครั้งเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ก็ต้องมีการตกแต่งเส้นทางหรือขุดเพิ่มร่อง ป้องกันรถไถลออกนอกเส้นทาง

ในการขับขึ้นเนินชันที่มีอันตรายนั้น หากมีร่องล้ออยู่ วิธีการขับที่ถูกต้องคือบังคับให้ล้อทั้ง 4 ลงไปอยู่ในร่องเพื่อให้ล้อมีเกาะยึดและไม่มีทางที่จะเกิดการลื่นไถลจนเสียการทรงตัว เป็นเหตุให้รถตกเหว ผู้ที่ขาดประสบการณ์มักจะเลือกวิธีการขับคร่อมร่อง โดยคิดว่าหากล้อตกลงไปในท้องร่องใต้ท้องอาจจะแขวนได้ แต่อย่าลืมว่าร่องล้อที่อยู่บนเนินชันนั้น ไม่ใช่ร่องตรงๆ จึงมีโอกาสที่ล้อรถจะลื่นไถลตกลงไป หากมีการกระแทกอย่างรุนแรงก็จะทำให้ลุกหมากคันชัก-คันส่งขาดได้ในทันที โดยเฉพาะหากร่องลึกจนเกิดการแขวนใต้ท้องจริง ก็สามารถถอยหลังกลับลงมาได้ไม่ยากนัก เพราะแรงดึงดูดของโลก

การขับคร่อมร่องล้อในบางจุดที่มีสามร่อง อาจทำให้ล้อคู่หน้าและคู่หลังตกลงไปในร่องคนละคู่ ทำให้เกิดขวางลำขณะกำลังขึ้นเนิน หากไม่มีการสะดุดก็สามารถปีนออกจากร่องได้ จึงไม่ทำให้รถเกิดการพุ่งลงเหว แสดงให้เห็นว่าร่องล้อนั้นมีประโยชน์ หากว่าร่องล้อที่มีความลึกมาก หากล้อตกลงไปก็จะทำให้ไม่สามารถขึ้นได้แน่ๆ จำเป็นต้องขับคร่อมจริงๆ ขอให้สังเกตว่า พื้นผิวบริเวณนั้นแห้งเป็นดินแข็งหรือเปียกชื้น จนถึงขั้นเป็นโคลน เพราะหากเป็นพื้นผิวแห้งๆ ก็ไม่มีอะไร สามารถขับคร่อมไปได้ แต่ถ้าหากมีความลื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามที่ได้กล่าวแล้ว วิธีการแก้ไขโดยการถมร่องด้วยหิน ท่อนไม้ และปรับแต่งเส้นทาง โดยการใช้จอบและเสียมขุดบริเวณที่ติดอกออก ยอมเสียเวลาสักเล็กน้อย แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของรถและตัวท่านเอง

ในการเดินทางแบบคาราวาน หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ 5-6 คัน การขับขึ้นเนินที่มีความลื่นและร่องลึกนั้น คันที่อยู่หน้าขบวนไม่ควรเร่งปั่นล้อจนทำให้ร่องมีความลึกมากขึ้นจนเส้นทางเสียหาย หากใต้ท้องรถแขวน ให้ใช้วินช์ดึงรถทันทีเพื่อไม่ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง และไม่เป็นการทำลายเส้นทางรถในขบวน ทุกคันควรกระทำแบบเดียวกัน

ถ้ารถคันแรกๆ เร่งส่งพร้อมกับโยกพวงมาลัยซ้าย-ขวา ก็อาจสามารถตะกุยผ่านร่องลึกนั้นไปได้ แต่จะสร้างปัญหาให้กับรถที่อยู่หลัง เพราะเส้นทางเสียหายมากก็จะเข้าไป 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากรถคันแรกได้กวนเส้นทางไว้จนเละ จนทำให้การใช้วินช์และการช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก วิธีการแก้ไขให้สลับเอาผู้ที่มีประสบการณ์ขึ้นไปนำขบวน พร้อมกับควบคุมการขับของรถทุกคัน ก็จะทำให้สมาชิกเหนื่อยน้อยลง รถก็ไม่บอบช้ำ และเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทาง

สิ่งที่พึงระวังอีกอย่างหนึ่ง หากว่าล้อของรถอยู่ในร่องแล้ว การที่พยายามหักพวงมาลัยเพื่อปีนออกจากร่องนั้นเป็นไปแทบไม่ได้เลย โดยเฉพาะผิวดินที่เปียกลื่น ร่องลึกเพียงไม่กี่นิ้ว ล้อก็ไม่สามารถปีนออกจากร่องได้แล้วยิ่งฝืนก็ยิ่งทำให้รถเสียการควบคุมมากขึ้น เนื่องจากล้อหน้าจะขวางร่อง ทำให้รถเคลื่อนที่ไปแบบขวางๆ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพยายามปีนออกจากร่อง การควบคุมพวงมาลัยโดยกำหลวมๆ ล้อก็จะเกาะอยู่ในร่อง ทำให้สามารถบังคับล้อได้ดีกว่า

หากจำเป็นต้องปีนร่อง เพราะร่องล้อเดิมที่มีอยู่นั้น เกิดจากการลื่นไถลของคันหน้าซึ่งจะทำให้รถคันที่ขับตามถูกบังคับให้ไปร่องเดิม และเกิดอาการเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ วิธีแก้ไขคือ ขุดขอบร่องออกเพื่อสร้างร่องใหม่ จนล้อหน้าสามารถเปลี่ยนร่องได้

เมื่อลงจากเนินชันยาวๆ ให้ใช้เกียร์ 1L เป็นหลัก หากต้องการใช้เบรกช่วยสามารถได้ แต่ห้ามเหยียบอย่างรุนแรงเพราะล้อจะล็อกรถจะขวางลำโดยอัตโนมัติ และอาจเกิดการพลิกคว่ำได้

เมื่อขับขึ้นยอดเนินแล้ว ควรหยุดรถก่อนเพื่อดูเส้นทางข้างหน้าทางลงมีโค้งซ้าย-ขวาอย่างไร แล้วค่อยไปต่อ ไม่ควรพุ่งพรวดพราดจนทำให้เกิดอันตราย และในการขับทั้งขึ้นและลงนั้น ควรให้รถคันหน้าไปจนสุดก่อน แล้วจึงขับตามไป เพราะหากรถคันใดคันหนึ่งเสียการควบคุมก็อาจเกิดการพุ่งชนกันได้

Walking Speed ที่เปลี่ยนจากการไต่ในขณะขับขึ้นเนินมา เป็นการดึงในขณะขับลงเนินจะทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าการใช้เบรกแต่เพียงอย่างเดียว ในการขับลงเนิน หากต้องการใช้เบรกช่วยก็สามารถกระทำได้ แต่ห้ามเหยียบเบรกอย่างรุนแรงเพราะล้อจะล็อกทำให้รถพุ่งลงจนไม่สามารถควบคุมได้เลย รถจะขวางลำโดยอัตโนมัติ และอาจเกิดการพลิกคว่ำได้ ถ้าโชคดีก็สามารถหยุดรถได้ โดยขวางลำอยู่กลางเนิน ก็ให้ปรับทิศทางพวงมาลัยไปในทิศทางลงเนินให้เข้าเส้นทางเสียก่อน แล้วจึงเคลื่อนที่ลงโดยการใช้ Walking Speed

ทางลงเนินชันที่อันตราย ควรอาศัยการขับเกาะร่องลงมา จะมีความปลอดภัยมากกว่าการขับคร่อมร่อง
เนินชันยาวๆ ถือว่าอันตรายมาก โดยเฉพาะในช่วงขาลงและเส้นทางนั้นลื่น ต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

การใช้ Walking Speed อาจดึงรถได้ดีเกินไป (โดยเฉพาะรถที่มีอัตราทดสโลว์สูงๆ) จะมีอาการคล้ายกับการใช้เบรกในการขับลงไม่สัมพันธ์กับองศาของเนินรถก็จะเกิดอาการขวางลำได้เช่นกัน วิธีการแก้ไขคือ ควรเปลี่ยนจากการใช้เกียร์ 1 4L เป็น 2 4L อาการล้อล็อกก็จะหายไป (เพราะที่ตำแหน่งเกียร์ 2 จะมีการดึงไม่เท่าเกียร์ 1) แต่หากยังเกิดอาการลื่นไถลหรือขวางลำอยู่ ให้เลือกวิธีปฎิบัติ 2 แบบ ในการขับ คือ การเหยียบคลัตช์เพื่อลดการดึงของเกียร์ ก็จะทำให้รถไหลลงเล็กน้อย ทำให้ไม่เกิดอาการขวางลอีกและเมื่อรถปรับเข้าเส้นทางดีแล้วให้ถอนคลัตช์ทันที เพื่อให้เกียร์ดึงรถต่อไป หรืออีกวิธีหนึ่งที่ปลอดภัยกว่า นั่นคือ การกดคันเร่งเพื่อฉุดให้รถตั้งลำตรง การตบคันเร่งเพียงเล็กน้อยจะสามารถแก้อาการขวางลำได้ แล้วจึงปล่อยให้เกียร์ทำหน้าที่ดึงรถต่อไป

การขับเป็นขบวนควรปล่อยให้รถคันหน้าลงไปก่อน ทิ้งระยะกันให้ห่างกว่าปกติ ป้องกันการลื่นไหลลงมาชนกัน

สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการขับลงเนินในเส้นทางธรรมชาติ ก็ไม่ต่างไปจากการขับขึ้นเนินโดยเฉพาะอุปสรรคแบบเดียวกัน คือ มีร่องล้อไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 3 ร่องก็ตาม ควรเลือกบังคับให้ทั้งล้อหน้าและล้อหลังอยู่ในร่องล้อคู่เดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการขวางลำจนเสียการควบคุมรถ และไม่จำเป็นต้องปีนออกนอกร่อง เพราะโอกาสที่ใต้ท้องรถจะแขวนในช่วงขาลงนั้นเป็นไปแทบไม่ได้เลย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *