มาเรียนรู้ทักษะ การขับรถออฟโรดขั้นพื้นฐานอย่างถูกวิธีกับ Grand Prix Motor Park กันเถอะ…(Part 8)

4x4 ACADEMY

Station ที่ 6 ฝายทดน้ำ/หินกรวดและทางขรุขระ

สถานีทดสอบแรงบิดของเครื่องยนต์ และการใช้รอบเครื่องยนต์และเกียร์ เส้นทางที่ขรุขระนี้ มีทั้งระดับง่ายและยาก ตั้งแต่สภาพทางลูกรังธรรมดาไปจนถึงหลุมบ่อและโขดหิน รวมทั้งสภาพเส้นทางที่ใช้หัดขับหรือเทรนนิ่ง และการแข่งขันออฟโรดทั่วๆ ไป

 รถออฟโรดที่ดีนั้น ระบบช่วงล่างจะต้องมีการซับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี ไม่อ่อนยวบยาบหรือแข็งกระด้าง แต่ควรอยู่ในระดับความหนืดที่มีความยืดหยุ่นสูงตอบสนองเร็ว เพราะมีความสำคัญต่อการขับขี่ที่ปลอดภัย หากว่าช่วงล่างมีความแข็งกระด้างเกินไป การซับแรงก็จะด้อยลงไปด้วย อาจส่งผลให้รถเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากช่วงยุบและยืดไม่ดีพอ ช่วงล่างที่ดีต้องสามารถยืดล้อให้สัมผัสพื้นได้มาก รวมทั้งยุบตัวและยันไม่ให้รถเกิดอาการวูบจนเสียการควบคุม จะช่วยให้เราสามารถขับผ่านอุปสรรคปัญหาไปได้โดยปลอดภัย

ในเรื่องของยางก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ยางที่ดีควรเป็นดอกหยาบแบบ Mud-Terrain จะช่วยในการเกาะพื้นผิวขรุขระได้ดีกว่ายางที่มีดอกละเอียด ทั้งนี้ต้องเติมลมยางให้เหมาะสมด้วย จึงจะได้คุณภาพของยางเต็มประสิทธิภาพ เราสามารถเติมลมยางให้อ่อนกว่าการใช้งานในสภาพปกติ ขึ้นอยู่กับขนาดของยางและน้ำหนักตัวรถ ยกตัวอย่าง รถที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน ยางขนาด 31 นิ้ว สามารถเติมลมได้ต่ำถึง 22 ปอนด์ แต่ถ้าเป็นยางขนาด 33 นิ้ว สามารถเติมลมยางได้ถึง 18 ปอนด์ เป็นเพราะมีปริมาณลมมากกว่านั่นเอง หากว่าเติมลมยางอ่อนไปยางอาจหลุดขอบได้

เมื่อเราขับรถออกนอกเส้นทางที่ราดยาง สิ่งที่จะได้พบก็คือ ทางลูกรังหรือทางดิน ถ้าไม่ยากเกินไปแนะนำว่า ให้ท่านใช้เกียร์ 4H เพื่อช่วยให้รถเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังใช้ความเร็วได้ตามปกติ แต่สิ่งที่ควรระวังในการขับบนถนนลูกรังก็คือ ห้ามการแตะเบรกโดยกะทันหันและการหักเลี้ยวอย่างรุนแรง(การกระชากพวงมาลัยรถ) เพราะทำให้รถเสียการทรงตัวและเกิดอุบัติเหตุได้

วิธีการที่ถูกต้องสำหรับการขับในเส้นทางที่เป็นทางกรวดก็คือ ฝึกหัดในขั้นแรก คือ ใช้ Walking Speed (เกียร์1L) เป็นหลัก อาศัยแรงบิดของเครื่องยนต์เป็นตัวช่วย ทำให้สามารถขับขี่ได้ง่ายขึ้น โดยใช้รอบเครื่องให้สัมพันธ์กับเกียร์ และที่สำคัญไม่ควรใช้ความเร็วหรือการเร่งอย่างรุนแรง ควรขับอย่างมีจังหวะจะโคน เลือกใช้เกียร์ 1 L เป็นหลัก และสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้เมื่อต้องการความเร็วเพิ่มขึ้น

เมื่อรู้สึกว่าเริ่มหนืดหรือรถเคลื่อนที่ช้าลง อันเกิดจากการหยุบตัวของหิน ให้แตะคันเร่งช่วยเบาๆ แต่อย่าเร่งอย่างแรง เพราะการเร่งอย่างแรงและรวดเร็วนั้น จะทำให้ล้อรถเกิดการตะกุย อันทำให้ขุดหลุมฝังล้อได้

STATION ที่ 7 .การขับข้ามบ่อน้ำและลำธาร

“น้ำ” เป็นอุปสรรคหนึ่ง ที่สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ หากมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ ความลึก ความเชี่ยวของกระแส หรือลักษณะของเส้นทางที่อยู่ใต้น้ำ สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ การขับข้ามน้ำในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ห้วย ลำธาร บึง แม้กระทั่งแม่น้ำ จะต้องทำการสำรวจความลึก พื้นผิวใต้น้ำ และกระแสน้ำทุกครั้งว่าเป็นอย่างไร มีโขดหิน หลุม อยู่บริเวณใดบ้าง รวมทั้งสภาพพื้นผิวใต้น้ำที่มีลักษณะเป็นดิน ทรายหรือกรวด ดังนั้นจึงต้องเดินลุยน้ำเท่านั้น จึงจะทราบถึงสภาพเส้นทางที่เราขับลงไป และต้องเดินสำรวจตลอดเส้นทางจนถึงฝั่งตรงกันข้าม ไม่ใช่ขับข้ามไปแล้วรถติดอยู่กลางน้ำ จะเดินหน้าถอยหลังก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก ยกเว้น เส้นทางนั้นมีการใช้สัญจรกันอยู่ประจำ

รถที่มีการตกแต่งและโมดิฟายมาแล้ว มีสมรรถนะเพิ่มจากรถสแตนดาร์ดเดิมๆ สามารถลุยน้ำลึกได้มากกว่าปกติ

น้ำที่มีกระแสไหลอยู่ตลอดเวลานั้น อาจทำให้สภาพพื้นผิวใต้น้ำเปลี่ยนได้ตลอดเวลา จึงไม่ควรไว้ใจในเส้นทางที่เคยขับผ่านมาหลายครั้งแล้ว เพราะทรายหรือกรวดอาจถูกน้ำพัดจนทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ หากมีจุดใดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้ไปยืนประจำการจุดนั้นๆ เพื่อให้ผู้ขับสังเกตเห็น หรือใช้ไม้ปักเพื่อเป็นสัญลักษณ์ก็ได้ และต้องรู้ธรรมชาติของน้ำอีกอย่างหนึ่ง คือ ถึงแม้ว่าจะมีระดับที่ไม่ลึกมากนักเพียงแค่กันชนหน้า ก็สามารถดันรถให้ลอยไปตามกระแสได้ เนื่องจากพื้นที่หน้าตัดของรถด้านข้างมีมากนั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องสังเกตกระแสน้ำว่ามีการไหลไปในทิศทางใด และมีความเร็วในการไหลเป็นอย่างไร

ถ้าระดับน้ำลึกมากจนอาจเป็นอันตราย ถึงแม้จะไม่มีกระแสน้ำก็ไม่ควรเสี่ยงที่จะข้ามไป เพราะรถจะไม่สามารถสู้กับแรงต้านของกระแสน้ำได้และจมในที่สุด จึงไม่ควรประมาทโดยเฉพาะรถที่ไม่มีสนอร์เกิ้ล( Snorkel) ระดับที่ไอดีจะอยู่สูงประมาณไฟหน้ารถ ดังนั้นถ้าน้ำลึกจนมิดยางก็ไม่ควรขับลงไป แต่ถ้ามีการติดตั้งสนอร์เกิ้ล ก็ไม่ควรให้ระดับน้ำลึกเกินหน้าอกของเราเอง

รถสแตนดาร์ดเดิมๆ มีความสามารถรถน้ำได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งก็ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

กระแสน้ำในลำห้วยหรือลำธารจะขึ้นอยู่กับปริมาณของฝน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด คือ สังเกตสีของน้ำภายหลังจากที่ฝนตกประมาณ 20-30 นาที หากสีน้ำเปลี่ยนไปจากเดิมและระดับน้ำสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดให้ยกเลิกการขับข้ามน้ำนั้นทันที และอยู่ในที่สูงหรืออกห่างจากลำห้วยให้มากที่สุด แม้แต่การพักแรมในฤดูฝนก็ไม่ควรอย่าใกล้น้ำมากนัก เพราะหากมีการพังของทำนบบนภูเขาน้ำก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าแบบไม่มีทิศทาง สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นอันตรายมากสำหรับคนเที่ยวป่า

สัมภาระต่างๆ ควรมีการยึดเกี่ยวให้เรียบร้อย ก่อนที่จะข้ามน้ำ ป้องกันถูกกระแสน้ำพัดลอยไป

เมื่อตัดสินใจจะข้ามน้ำที่มีระดับลึกถึงกระบะ(รถปิกอัพ) ให้ผูกโยงสัมภาระทั้งหมดติดกับตัวรถเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำพัดไป หรือถ้ามีตาข่ายคลุมทับก็เป็นการดี เพราะมีสัมภาระหลายอย่างที่ลอยน้ำได้ เช่น ยางอะไหล่ ลังทหาร เครื่องครัว หรือเครื่องนอน เป็นต้น ถ้าน้ำมีกระแสแรงให้ใช้การโยงสายสลิงรถคันที่ลงน้ำไว้กับรถคันหลัง ที่สำคัญรถคันหลังจะต้องมีหลักที่ดีกว่าโดยอาจจะโยงไว้กับต้นไม้ที่มีความแข็งแรงหรือกับรถอีกคันหนึ่งก็ได้ เพื่อให้น้ำหนักโดยรวมมากกว่ารถคันที่ขับลงน้ำ และต้องผ่อนสายสลิงออกช้าๆ ตามไป อย่าให้สายตึงเพราะจะเป็นการฉุดรถคันหน้าไว้ ทำให้ล้อปั่นฟรีจนจมได้ และรถคันที่จะขับลงน้ำทุกคันต้องไม่ลืมที่จะสาวสลิงออกมาพันไว้กับกันชนหน้าเตรียมไว้ เผื่อกรณีฉุกเฉินจะสามารถดึงออกและใช้ดึงรถขึ้นจากน้ำได้โดยใช้เวลาน้อยที่สุด

ก่อนข้ามน้ำทุกครั้ง ควรปิดแอร์ ปลดล็อกรถ เปิดกระจกทุกบาน พร้อมปลดเข็มขัดนิรภัย เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน

เมื่อพร้อมจะลงน้ำห้ามคาดเข็มขัดนิรภัย และลดกระจกหน้าลงให้สุด พร้อมกับปลดล็อกประตูทุกบาน เพื่อป้องกันการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้า ด้วยเหตุว่าในกรณีฉุกเฉินรถอาจจะจมน้ำถึงในระดับที่เป็นอันตราย ผู้ที่อยู่ในรถจะสามารถมุดออกมาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสะดวกต่อผู้ที่เข้าไปช่วยเหลืออีกด้วย

เมื่อจะขับข้ามน้ำ ผู้ขับต้องมีสติรอบคอบ ใช้เกียร์ที่เหมาะในการขับข้ามน้ำที่สุด คือ เกียร์ 1 (4L) เพราะสามารถใช้ Walking Speed เพราะเป็นเกียร์ที่ทำให้เครื่องยนต์ดับยาก หากว่ารถทำท่าจะจมน้ำแน่ๆ ให้กดคันเร่งพร้อมกับดับเครื่องยนต์ทันที ห้ามปล่อยให้เครื่องยนต์ดับเอง เพราะเครื่องยนต์อาจเกิดความเสียหาย ภายหลังจากที่เครื่องยนต์ดับ ห้ามไม่ให้สตาร์ทซ้ำอีกจนกว่าจะกู้รถขึ้นมาบนฝั่ง พร้อมกับตรวจเช็คระบบเครื่องยนต์ หากน้ำมันเครื่องมีสีเปลี่ยนไปโดยมีสีคล้ายกาแฟเย็น แสดงว่ามีน้ำเข้าไปผสม ให้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและทำการไล่น้ำออกจากระบบเครื่องยนต์เสียก่อน

ไม่ควรกระโจนลงน้ำโดยแรง เพราะอาจจะเกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะใบพัดอาจจะแตกและไปตีหม้อน้ำได้

ข้อดีของการใช้ Walking Speed อีกประการหนึ่งก็คือ เป็นเกียร์ที่มีความเร็วต่ำ แต่มีแรงบิดสูง ทำให้สามารถค่อยๆ ขับผ่านไปได้โดยไม่ต้องกดคันเร่งมากนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีพื้นอ่อนนุ่ม เช่น พื้นที่เป็นทรายใต้น้ำ โคลน เป็นต้น พื้นที่ลักษณะนี้ไม่สามารถขับผ่านได้โดยใช้รอบเครื่องยนต์สูง เพราะจะทำให้ล้อหมุนฟรี จนทำให้รถจม ที่สำคัญห้ามใช้ความเร็วในขณะขับข้ามน้ำ เพราะระบบช่วงล่างอาจถูกก้อนหินกระแทกจนเกิดความเสียหายได้


การขับข้ามน้ำที่ลึกและกระแสน้ำแรง ควรขับตัดเป็นมุมทะแยง 45 องศา กับกระแสน้ำ โดยขับไปครึ่งทางแล้วปล่อยให้กระแสน้ำพัดให้รถกลับสู่ทิศทางเดิมจนถึงฝั่งตรงข้าม

ถ้ากระแสน้ำไหลแรง การขับข้ามในแนวตัดตรง จะทำให้รถถูกน้ำดันไม่สามารถควบคุมรถได้ ควรขับตัดเป็นมุมทแยง 45 องศา กับกระแสน้ำ โดยขับไปครึ่งทางแล้วปล่อยให้กระแสน้ำพัดให้รถกลับสู่ทิศทางเดิมจนถึงฝั่งตรงข้าม หากขับตัดมากเกินไปกระแสน้ำจะพัดท้ายรถให้ไปตามน้ำ ทำให้ตัวรถเกิดการขวางลำ และไม่สามารถบังคับให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ หากขับตัดกระแสน้ำน้อยเกินไป จะทำให้ด้านข้างของตัวถังรถต้านน้ำอาจเกิดการลอยของตัวรถจนล้อไม่สัมผัสกับพื้นผิวใต้น้ำ ก็จะไม่สามารถควบคุมรถได้เช่นกัน

ก่อนขับข้ามน้ำที่ดูแล้วค่อนข้างมีความเสี่ยง ให้เตรียมรถเพื่อเป็นหลักวินช์เอาไว้ช่วยเหลือ ในกรณีที่รถติดกลางน้ำ
จุดไหนมีความเสี่ยงที่รถจะติดหล่ม หรือโขดหินใต้น้ำ ควรนำหลักไปปักไว้หรือใช้ให้คนไปยืนบอก

ก่อนที่จะขับข้ามน้ำที่มีกระแสไหลแรง ควรเตรียมพร้อมโดยให้รถคันที่อยู่บนฝั่งโยงสายสลิงวินช์ไว้กับคันที่จะขับลงน้ำ และยึดตัวเองไว้กับหลักที่มั่นคงบนฝั่ง เช่น ต้นไม้ หรือรถอีกคันหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกดึงลงไปในน้ำ พร้อมกับสังเกตอาการของรถคันที่ขับลงน้ำว่าสามารถควบคุมรถได้หรือไม่ หากมีอาการสูญเสียการควบคุมและถูกน้ำพัดไป ให้รถคันที่อยู่บนฝั่งผ่อนสายสลิงตามไปจนหยุดนิ่งก่อน แล้วจึงค่อยๆ ดึงเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงการดึงกระชากอย่างแรง จนสายสลิงขาด  ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ขณะดึงสายสลิงเข้าให้สังเกตอาการของรถคันที่อยู่ในน้ำว่าจมมากขึ้นหรือไม่ หรืออาจติดโขดหินได้ก็ควรหยุดการดึงเข้า เพราะสายสลิงอาจขาดได้ แล้วจึงหาวิธีแก้ไขแบบอื่นแทน โดยห้ามปลดตะขอของสายสลิงอออกจากรถคันที่จม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำพัดไป

ในระหว่างขับอยู่กลางน้ำ รักษาทั้งรอบเครื่องและความเร็วให้คงที่ ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์เพราะเครื่องยนต์อาจสะดุดหรืออาจทำให้เสียจังหวะ และไม่ควรขับโดยกระโจนลงน้ำหรือเร่งเครื่องอย่างแรง เพื่อป้องกันไม่ให้ด้านหน้าของรถต้านน้ำ เพราะจะทำให้รถลอยหรือจม การควบคุมรถก็จะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะน้ำอาจจะดันให้หม้อน้ำกระแทกกับใบพัดจนเสียหาย

เมื่อเสร็จสิ้นการข้ามน้ำ สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติ ก็คือ การไล่น้ำออกจากผ้าเบรก โดยการทำการเบรกย้ำหลายๆ ครั้ง จนสามารถหยุดรถได้ตามปกติและไม่มีเสียงดังครืดๆ อีก ความร้อนจะทำให้น้ำระเหยออกจากผ้าเบรกจนหมด หากยังไม่ได้ไล่น้ำออกจากผ้าเบรก ควรหลีกเลี่ยงการดึงเบรกมือทิ้งไว้นานๆ โดยเฉพาะทิ้งข้ามคืน เพราะผ้าเบรกจะบวมจนจับจานเบรกแน่น ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนรถได้

หลังผ่านการข้ามน้ำหรือแช่น้ำนานๆ ควรตรวจเช็คระบบต่างๆ รวมถึงตรวจเช็คน้ำมันหล่อลื่นต่างๆ ประกอบด้วย

ถ้ารถแช่น้ำเป็นเวลานาน ให้ตรวจเช็คน้ำมันเครื่อง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเฟืองท้าย และน้ำมันเกียร์ทันที เนื่องจากน้ำอาจเข้าไปผสมในระบบน้ำมันต่างๆ ของรถได้ และอาจก่อให้เกิดปัญหากับระบบเครื่องยนต์ และเฟืองต่างๆ เหตุเพราะน้ำมันจะสูญเสียคุณสมบัติในการหล่อลื่น จนไม่มีชิ้นฟิล์มที่ฉาบคลือบโลหะ จึงทำให้เสียดสีกันและเกิดความเสียหายได้ ควรทำการไล่น้ำออกจากหัวฉีดควบคู่กันไปด้วย เพื่อไล่น้ำให้ออกไปจากระบบเครื่องยนต์ทั้งหมด

Related Posts